โรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (STREPTOCOCCUS SUIS)

1. ลักษณะโรค : เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลัน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococus suis (ดังรูปที่ 18)
 

รูปที่ 18 (A) เชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส จากอาหารเลี้ยงเชื้อเหลวติดสีแกรมบวก รูปร่างกลมรี อยู่เป็นคู่ (oval diplococci)
หรือต่อกันเป็นสาย กล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 1000 เท่า (B) โคโลนีของเชื้อสเตร็พโตค็อกคัสซูอิส
บน Blood Agar สีเทาใส เห็นแนวเม็ดเลือดแดงแตกบางส่วนเป็นสีเขียวจางในอาหารเลี้ยงเชื้อ

2. ระบาดวิทยา :
สถานการณ์ทั่วโลก : โรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) พบครั้งแรกในมนุษย์เมื่อ ปี พ.ศ. 2511 ที่ประเทศเดนมาร์ก ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 2 ราย และติดเชื้อในกระแสเลือด 1 รายต่อมามีรายงานค่อนข้างน้อย พบประปรายเพียงประมาณ200 ราย จากหลายประเทศทั่วโลก ได้แก่ เนเธอร์แลนด์เดนมาร์ก อิตาลี เยอรมัน เบลเยี่ยม สหราชอาณาจักรฝรั่งเศส สเปน สวีเดน ไอร์แลนด์ ออสเตรีย ฮังการีนิวซีแลนด์ อาร์เจนตินา ฮ่องกง โครเอเชีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไทย และมีรายงานการระบาดในประเทศจีน 2 ครั้ง คือพ.ศ. 2541 ในมณฑลเจียงซู พบผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต14 ราย และ พ.ศ. 2548 ในมณฑลเฉวน พบผู้ป่วย 215ราย เสียชีวิต 39 ราย ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกงได้มีการรวบรวมรายงานการเกิดโรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิสในผู้ป่วยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2527 - 2536 พบผู้ป่วย 25 รายเสียชีวิต 1 ราย และในปี พ.ศ. 2548 พบผู้ป่วยรวม 13 รายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 พบผู้ป่วย 1 ราย ในสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มีรายงานผู้ป่วย 3 ราย รายแรกพบในเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 หลังจากนั้นพบผู้ป่วยอีกรายใน เดือนมีนาคม 2543 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2545พบผู้ป่วย อีก 1 ราย เพาะเชื้อจากเลือด พบเชื้อ สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส

สถานการณ์โรคในประเทศไทย:
มีรายงานผู้ป่วยตั้งแต่พ.ศ. 2530 ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือเช่น ลำพูน เชียงใหม่ พะเยา พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร
มีรายงานการศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2530 - 2535พบผู้ป่วย 6 ราย ในโรงพยาบาลรามาธิบดี คิดเป็นร้อยละ 17 ของผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นหนอง มีเพียง 3 ราย มีประวัติสัมผัสสุกรก่อนจะมีการป่วยด้วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และมีอาการหูหนวกทั้งสองข้าง

ปี พ.ศ. 2540 มีรายงานผู้ป่วย 3 ราย มีอาการรุนแรงทั้ง 3 ราย รายที่หนึ่งเป็นชาย อายุ 23 ปี อาชีพชำแหละสุกร ติดเชื้อทางผิวหนังจากบาดแผลที่ข้อมือ ผู้ป่วยได้รับการรักษาและหายโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลงเหลืออยู่รายที่สองเป็นหญิง อายุ 49 ปี อาชีพกรรมกร ไม่ตอบสนองต่อการรักษา และถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา ไม่พบประวัติการสัมผัสโรค และรายที่สามเป็นชาย อายุ 45 ปีอาชีพช่างสีรถยนต์ ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ได้รับการชันสูตรยืนยันโดยการเพาะเชื้อว่าเป็นการติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัสซูอิส ผู้ป่วยหายจากโรคแต่ยังคงมีอาการหูหนวกเหลืออยู่

ปี พ.ศ. 2542 มีรายงานจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์จังหวัดขอนแก่น รายงานผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ 1 รายเพศชาย อายุ 50 ปี อาชีพตำรวจ การตรวจยืนยันเพาะเชื้อจากเลือดและนํ้าไขสันหลัง พบเชื้อสเตร็พโตค็อกคัสซูอิส

ปี พ.ศ. 2543 มีรายงานผู้ป่วย 1 ราย จากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นชายอายุ 45 ปี อาชีพขับรถบรรทุก ผู้ป่วยรายนี้ถึงแก่กรรม ผลการเพาะเชื้อจากสารนํ้าในช่องท้องพบเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส

ปี พ.ศ. 2542 - 2543 มีรายงานผู้ป่วยจากจังหวัดลำพูนจำนวน 10 ราย ทุกรายเป็นชาย อายุ 40-49 ปี มีอาการป่วยในช่วงเวลาเดียวกัน และมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่และทุกรายถึงแก่กรรม ผลการเพาะเชื้อชันสูตรพบเชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส


3. อาการของโรค :
อาการที่พบได้บ่อย คือ อาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น ไข้ปวดศีรษะ คอแข็ง อาเจียน กลัวแสง สับสน ผู้ป่วยส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยิน จนถึงขั้นหูหนวกถาวร ผู้ป่วยบางรายมีอาการเวียนศีรษะ ข้ออักเสบเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ (cellulitis) ในรายที่มีอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตจะมีผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตับไต เยื่อบุหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ ลูกตาอักเสบ มีผื่นจํ้าเลือดทั่วตัวและช็อก หลังจากที่หายจากอาการป่วยแล้ว อาจมีความผิดปกติของการทรงตัวและการได้ยินการยืนยันการวินิจฉัยโรคโดยการตรวจพบเชื้อจากนํ้าไขสันหลัง เลือด หรือของเหลวจากข้อ (joint fl uid) ส่วนใหญ่อาการของผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะคล้ายกับการติดเชื้อจากสเตร็พโตค็อกคัส นิวโมเนีย (Streptococcus pneumoniae) หรืออาการแบบกึ่งเฉียบพลัน (subacute meningitis) จะคล้ายกับผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค


4. ระยะฟักตัวของโรค :
ระยะฟักตัวของโรคประมาณไม่กี่ชั่วโมงถึง 3 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณ ทางเข้าของการติดเชื้อและพื้นฐานสุขภาพผู้ป่วย ไม่มีรายงานการติดต่อระหว่างคน


5. การวินิจฉัยโรค :


1. ทำการทดสอบการเฟอร์เมนต์นํ้าตาล Cystine trypticase soy agar (CTA) 1% กรณีเชื้อกลุ่ม Streptococcus ทดสอบทางชีวเคมีอื่นๆ อ่านผล 24-48 ชม. ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันแพร่หลายในห้องปฏิบัติการ จำแนกชนิด โดยเทียบผลกับตารางการตรวจวิเคราะห์

2. การจำแนก serotype ด้วยวิธี PCR : กรณีที่เพาะเชื้อขึ้น และตรวจวิเคราะห์ยืนยันเป็น Streptococcus suis ให้สกัด DNA จากเชื้อโดยตรง โดยวิธีใช้สารเคมี จากนั้นนำมาทำการทดสอบหา DNA ที่จำเพาะ ต่อ Streptococcus suis หรือ DNA ที่จำเพาะต่อ serotype 1, 2, ½ หรือ 14 ด้วย Primer จำเพาะ

3. การทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพ โดยตรวจหาความไวต่อยาด้วยวิธี Disk diffusion บน Mueller-Hinton หรือ Mueller-Hinton sheep blood agar ตามวิธีของ NCCLS ต่อยา 5 ชนิด และ Streptococcus pneumoniae สามารถตรวจหาค่า Minimum inhibition concentration (MIC)ด้วย E-test บน Mueller-Hinton sheep blood agar ตามวิธีของ NCCLS ต่อยา Penicillin และ Cefotaxime (3rd general Cephalosporins)

4. การตรวจหาเชื้อจากสิ่งส่งตรวจโดย PCR : เป็นการตรวจหา DNA ของเชื้อแบคทีเรียที่สงสัย จากCSF หรือ Hemoculture โดยตรงของเชื้อกลุ่ม Streptococcus pneumoniae, Streptococcus agalactiae และ Streptococcus suis กรณีต้องการผลเร่งด่วนหรือไม่สามารถเพาะเชื้อขึ้นเนื่องจากตัวอย่างไม่เหมาะสม เช่น เก็บตัวอย่างที่อุณหภูมิตํ่าก่อนส่งตรวจวิเคราะห์ ซึ่งต้องสกัด DNA ก่อนโดยสารเคมี


6. การรักษา :
แนวทางการรักษาผู้ป่วย แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การดูแลรักษาแบบทั่วไป และการรักษาเฉพาะโรค

1. การดูแลรักษาผู้ป่วยโดยทั่วไป - การดูแลรักษาผู้ป่วยตามอาการเพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ประกอบด้วยการรักษาแบบประคับประคอง เช่น มีไข้ ให้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ลดไข้ โดยหลีกเลี่ยงการให้แอสไพริน (Aspirin) โดยเฉพาะในเด็ก การให้อาหารและนํ้า กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก นอกจากนี้ควรเฝ้า ติดตาม Vital signs อย่างใกล้ชิด

2. การรักษาเฉพาะโรค - สำหรับการรักษาเฉพาะนั้นขึ้น กับตำแหน่งของโรค ดังนี้
     - เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ยาปฏิชีวนะเป็นตัวเลือกอันดับแรก คือ เพนิซิลลิน จี โซเดียม (Penicillin G Sodium; PGS) ในขนาด 12-16 ล้านยูนิตต่อวัน
     - การติดเชื้อของผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนและภาวะ Sepsis เช่นเดียวกันกับการรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ยาปฏิชีวนะที่เป็นตัวเลือกอันดับแรก ได้แก่ เพนิซิลลิน จี โซเดียม (Penicillin G Sodium; PGS)
     - การติดเชื้อของลิ้นหัวใจ หลักการรักษาลิ้นหัวใจติดเชื้อจาก viridans streptococci โดยให้ดูค่า MIC ในขนาด 18-30 ล้านยูนิตต่อวันร่วมกับเจนตามิซิน (Gentamicin) ในขนาด 1-1.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมง ในกรณี ค่า MIC มากกว่า หรือเท่ากับ 0.5 ไมโครกรัม/ มิลลิลิตร และระยะเวลาก็ควรเป็น 4-6 สัปดาห์ในขณะที่ถ้าค่า MIC ตํ่ากว่า หรือเท่ากับ 0.1ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ให้เพนิซิลลิน จี โซเดียม(Penicillin G Sodium; PGS) เดี่ยวๆ ในขนาด 12-18 ล้านยูนิตต่อวัน นาน 2 สัปดาห์ ถ้ากรณีค่า MIC เท่ากับ 0.25 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ให้เพนิซิลลิน จี โซเดียม (Penicillin G Sodium; PGS) 18 ล้านยูนิตต่อวัน ร่วมกับเจนตามิซิน(Gentamicin) ในขนาด 1-1.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมง โดยให้ เพนิซิลลินจี โซเดียม (Penicillin G Sodium; PGS) นาน4 สัปดาห์ และให้เจนตามิซิน (Gentamicin)นาน 2 สัปดาห์


7. การแพร่ติดต่อโรค : สามารถติดต่อโรคได้ 3 ทาง ดังนี้

1. ทางผิวหนัง มนุษย์สามารถติดเชื้อจากการสัมผัสกับสุกรที่เป็นโรค หรือเนื้อสุกรที่ติดเชื้อ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยถลอก ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร คนทำงานโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อสุกร ผู้ตรวจเนื้อ สัตวบาล สัตวแพทย์ และผู้ที่หยิบจับเนื้อสุกรดิบเพื่อปรุงอาหาร กลุ่มคนที่มีหน้าที่ต้องชำแหละซากสัตว์ หรือทำงานในโรงฆ่าสัตว์ มีความเสี่ยงติดเชื้อสูงกว่าคนทั่วไป ผู้ป่วยในต่างประเทศส่วนใหญ่ (ทั้งยุโรปและเอเชีย) ติดเชื้อจากลักษณะนี้

2. ทางการกิน จากการบริโภคเนื้อสุกรที่ดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ หรือเลือดสุกรที่ไม่สุก ซึ่งผู้ป่วยคนไทยส่วนใหญ่มักได้รับเชื้อโดยวิธีนี้

3. ทางเยื่อบุตา


8. มาตรการป้องกันโรค : มาตรการป้องกันโรค

1. กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเชื้อโรคสเตร็พโตค็อกคัสซูอิส ส่วนใหญ่พบในสุกรและไม่แสดงอาการ ผู้เลี้ยงสัตว์ ควรป้องกันและระวังตนเองในการเลี้ยงหรือจับสุกร ซึ่งมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อจากสุกรที่เป็นพาหะได้
     - การทำความสะอาดคอก ควรใส่รองเท้า และถุงมือทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสัมผัสกับของเสีย มูล หรือเมื่อต้องเข้าไปทำงานในคอกสุกรล้างมือทุกครั้งเมื่อสัมผัสกับสุกร หรือทำความสะอาดคอกสัตว์
     - หลีกเลี่ยงจากการจับซากสุกรที่ตายด้วยมือเปล่า หรือนำออกจากฟาร์มเพื่อจำหน่ายหรือบริโภค
     - การทำลายซาก ควรฝังให้ลึกประมาณ 2 เมตรและโรยปูนขาวทั่วก้นหลุม และบนตัวสัตว์ก่อนทำการกลบดิน

2. กลุ่มผู้ทำงานในโรงงานฆ่าสัตว์ จะเป็นผู้ที่สัมผัสโดยตรงกับซากสุกร อาจจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูงดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการป้องกันอย่างดี โดยใส่เสื้อกางเกงปกปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการกระเด็นจากของเสียจากซากสุกรที่ชำแหละ กระเด็นเข้าสู่ปากหรือเยื่อเมือกและผิวหนัง ใส่รองเท้าบู๊ท และถุงมือเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสุกรโดยตรง
     - ล้างทำความสะอาดมือ เท้า และส่วนที่ไม่มีการปกปิดบ่อยๆ และไม่ควรหยิบหรือจับต้องอาหารเข้าปากขณะปฏิบัติงาน

3. กลุ่มผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ ผู้จำหน่ายเนื้อสุกรนับว่าเป็นจุดแรกที่มีความสำคัญต่อผู้บริโภค ดังนั้น จึงต้องป้องกันการนำเชื้อโรคนี้สู่ผู้บริโภค
     - เนื้อสุกรที่นำมาจำหน่ายควรมาจากโรคฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน มีการตรวจรับรองจากพนักงานตรวจเนื้อ โดยปกติแล้วเนื้อสุกรที่ผ่านจากโรงงานฆ่าสัตว์จะมีตราประทับรับรองที่ซากสัตว์ทุกซากที่จะนำสู่การจำหน่าย
     - แผงจำหน่ายควรทำความสะอาด และล้างด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อทุกวันหลังเลิกจำหน่าย
     - ควรเก็บเนื้อที่จะขายในอุณหภูมิที่ตํ่ากว่า 10 oซ.(ตามคำแนะนำของกรมอนามัย ในระหว่างจำหน่าย และหากเก็บค้างคืนควรเก็บที่อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0 oซ.) และควรจำหน่ายเนื้อที่สดทุกวัน
     - ผู้จำหน่ายเนื้อสุกรควรมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ และไม่ควรมีบาดแผลที่ฝ่ามือควรจำหน่ายเนื้อที่สดทุกวัน หากเหลือค้างคืนควรนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย
     - ผู้จำหน่ายเนื้อสุกรควรมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ และไม่ควรมีบาดแผลที่ฝ่ามือ

4. กลุ่มผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความ เสี่ยงในการติดต่อจากโรคนี้ ควรจะต้องป้องกันเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อเนื้อจนถึงการปรุงบริโภคทุกขั้นตอน ดังนี้
     - การเลือกซื้อเนื้อสุกรเพื่อบริโภคควรเป็นเนื้อสุกรที่สด ไม่มีสีแดงคลํ้าหรือมีเลือดคั่งมากๆหรือเนื้อแดงมีเลือดปนผิดปกติ
     - ร้านค้าควรมีใบรับรองการนำเนื้อสุกรจากโรงงานฆ่าสัตว์ที่มีมาตรฐาน ไม่เป็นเนื้อสุกรที่ตายเอง และนำมาชำแหละขาย
     - เลือกซื้อเนื้อที่เก็บอยู่ในความเย็นตลอดเวลาล้างมือก่อนและหลังสัมผัสเนื้อหรืออวัยวะของสุกรที่จำหน่าย
     - การปรุงอาหาร ควรนำเนื้อสุกรมาปรุงสุกเท่านั้นไม่ควรบริโภคเนื้อสุกร เลือด และอวัยวะภายในที่ดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้ เป็นต้น
     - ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสเนื้อหรืออวัยวะของสุกรที่จำหน่าย โดยเฉพาะหากมีบาดแผลบริเวณที่สัมผัส

9. มาตรการควบคุมการระบาด :
การรายงานโรค ให้รายงานผู้ป่วยที่สงสัยทุกราย เพื่อการออกสอบสวนโรครายงานในบัตรรายงานเฝ้าระวังโรค (รง 506) ช่องโรคอื่นๆ โดยดำเนินงานเฝ้าระวังทั่วประเทศเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส ถูกทำลายได้ง่ายด้วยผงซักฟอก สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส ที่ปนเปื้อนใน มูลสัตว์ในนํ้า ดิน จะทนต่อความร้อนที่ 60 oซ. นาน 10 นาทีหรือ 50 oซ. นาน 2 ชั่วโมง แต่ที่ 4 oซ. สามารถอยู่ได้นาน6 สัปดาห์ และที่อุณหภูมิ 0 oซ. ในฝุ่นดินมีชีวิตได้นาน1 เดือน ในมูลสัตว์นาน 3 เดือน และที่อุณหภูมิห้องในมูลสัตว์มีชีวิตได้นาน 8 วัน


เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักโรคติดต่อทั่วไป, กรมควบคุมโรค. แนวทางการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส. กรุงเทพ:สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์; 2550.
2. Ruoff K.L., et al., Streptococcus. In Murray P.R. etal Manual of Clinical Microbiology. 8th Edition.USA: Washington, 2003. p. 405-421.
3. Teixeira L.M. and Facklam R.R., Enterococcus. InMurray P.R. et al Manual of Clinical Microbiology.8th Edition. USA: Washington, 2003. p. 422-433.
4. Ruoff K.L., Aerococcus, Abiotrophia, andOther Infrequently Isolated Aerobic Catalase-Negative,Gram-Positive Cocci. In Murray P.R. et al Manual of Clinical Microbiology. 8th Edition.USA:Washington, 2003. p. 434-444.
5. Funke G. and Bernard K.A., CorynebacteriumGram-Positive Rods. In Murray P.R. et al Manualof Clinical Microbiology. 8th Edition. USA: Washington,2003. p. 472-501.
6. Bille J. et al., Listeria and Erysipelothrix. In MurrayP.R. et al Manual of Clinical Microbiology. 8thEdition. USA: Washington, 2003. p. 461-471.
7. Logan N.A.and Turnbull P.C.B. Bacillus and OtherAerobic Endospore-Forming Bacteria. In MurrayP.R. et al Manual of Clinical Microbiology. 8th Edition.USA: Washington, 2003.p.445-60.
8. Harley M.A. and Jephcott A.E. 1994. CutaneousCorynebacterium diphtheriae infection: Africa.PHLS Microbial. Digest., 1994, 11,95.
9. CLSI. Clinical and Laboratory Standards Institute. Performance Standards for Antimicrobial SusceptibilityTesting. Seventeenth InformationalSupplement. CLSI document M100-S17 [ISBN1-56238-625-5] Clinical and Laboratory StandardsInstitute, 940 West Valley Road, Suite 1400, Wayne, Pennsylvania 19087-1898 USA, 2007.

 

ที่มา: สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข