โรคพิษสุนัขบ้า...ไม่ได้บ้าแค่สุนัข !!

ช่วงนี้เราคงจะได้ยินข่าวเรื่องของสุนัขบ้าที่ระบาดอยู่ทั่วกรุง จนทำให้หลายๆคนรู้สึกหวาดระแวงเมื่อมีสุนัขจรจัดเข้าใกล้ๆ แต่เชื่อไหมคะว่า “พิษสุนัขบ้า” นอกจากจะติดจากสุนัขแล้ว เจ้าสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักรอบๆตัวเรา เช่น แมว หนูแฮมสเตอร์ กระรอก กระต่าย ก็เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าให้กับเราและคนที่เรารักได้เช่นกัน  จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้ามาให้รู้จักกันค่ะ

โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากอะไร
โรค พิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ “เรบีส์” (Rabies virus) เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายของคนหรือสัตว์ก็ตาม เชื้อไวรัสนี้จะเข้าไปฝังตัวอยู่ในระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สมองและเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดอาการอย่างรวดเร็วจนทำให้เสียชีวิตได้ และที่น่ากลัวที่สุดคือปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มียารักษา คนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง100 เปอร์เซ็นต์


การติดโรคและสัตว์อื่นที่เป็นพาหะ

เชื้อ ไวรัสเรบีส์ปนอยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ และติดต่อ สู่คนผ่านทางบาดแผลหรือเนื้อเยื่ออ่อน สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ การถูกสุนัขกัด และน้อยคนนักที่จะทราบว่าคนที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าไม่จำเป็นต้องโดนกัด เสียจนเหวอะหวะ เพียงแค่ถูกสัตว์เลีย หรือข่วน หรือน้ำลายจากสัตว์ที่ติดเชื้อกระเด็นเข้าบาดแผล หรือเข้าตา จมูก ปาก ทวารหนัก หรือแม้แต่อวัยวะสืบพันธุ์ที่แม้จะไม่มีบาดแผลก็อาจทำให้ติดเชื้อโรคพิษ สุนัขบ้าได้เช่นกัน

เนื่องจากคนไทยเรียกโรคนี้ว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นเหตุให้เรามักระวังแค่สุนัขเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ก็เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น แมว หนู กระต่าย กระรอก กระแต ลิง ชะนี วัว ควาย ค้างคาว เป็นต้น โดยทั้งหมดส่งต่อเชื้อผ่านทางน้ำลายด้วยการกัด เลีย หรือน้ำลายกระเด็นโดนได้เช่นเดียวกับสุนัข


วิธีสังเกตอาการของสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
สัตว์ที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า มักมีอาการหลัก 2 ประเภท คือ

  1. ประเภทดุร้าย
    เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด จะดุร้าย พยายามไล่กัดคนหรือสัตว์อื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง หากโดนกักขัง อาจกัดโซ่ กัดกรง อย่างเกรี้ยวกราดจนฟันหัก ลิ้นเป็นแผลและมีเลือดออก อาการดุร้ายจะเกิดขึ้นเพียง 2-3 วัน หลังจากนั้นจะค่อยๆอ่อนเพลีย ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และตายในที่สุด
  2. ประเภทเซื่องซึม
    สังเกตอาการได้ยากมากเนื่องจาก มักไม่ไล่กัดผู้อื่นหากไม่ถูกรบกวน แต่จะเซื่องซึม ปากอ้าไม่ยอมหุบ ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกมานอกปาก อาจลุกนั่ง ยืน และเดินไปมาบ่อย ๆ หรือกินของแปลก ๆ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน หรือกินปัสสาวะของตัวเอง

    “เมื่อเห็นสัตว์เดินโซเซอยู่ตามท้องถนน
    ไม่ว่าจะมีท่าทางดุร้ายเกรี้ยวกราด หรือเซื่องซึม
    ก็ควรอยู่ให้ห่าง และเตือนคนรอบข้างให้ระวัง
    แล้วแจ้งหน่วยงานราชการหรือผู้เชี่ยวชาญให้มาจัดการทันที”


ทำอย่างไรเมื่อ....โดนกัดเข้าให้แล้ว

หลักที่ต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ เมื่อถูกกัดไม่ว่าแผลจะใหญ่หรือเล็กไม่ว่าจะมีเลือดออกหรือไม่ แค่รอยข่วน รอยช้ำเขียว หรือแค่ถูกเลียก็ตาม หากไม่แน่ใจว่าสัตว์ตัวนั้นฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้วหรือยัง ให้คิดไว้ก่อนเสมอว่าเป็นสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และควรปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. รีบล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด เพื่อล้างเลือดและน้ำลายของสัตว์ออกจากแผล
  2. จากนั้นฟอกแผลด้วยสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
  3. เช็ดบริเวณรอบบริเวณรอบแผลด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาโพวิโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนภายในวันนั้นทันที
  4. หากเป็นไปได้ ให้จับสัตว์ตัวนั้นขังกรง และเฝ้าสังเกตอาการของสัตว์อย่างน้อย10-15 วัน ระหว่างนั้นหากสัตว์ตัวนั้นตาย ให้นำซากมาตรวจพิสูจน์เชื้อ โดยควรส่งให้เร็วที่สุด ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์เขต ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอหรือติดต่อสอบถาม ฝ่ายควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน กองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์ โทร 02-653-447,02 653-444 ต่อ 4141, 4142,4117
  5. หากเป็นสัตว์จรจัดหรือสัตว์ป่า ไม่จำเป็นต้องติดตามหาสัตว์นั้น แต่ผู้ถูกกัดควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที

 

 

หากปล่อยไว้ ไม่ฉีดวัคซีน....

ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ ใน 2-3 วันแรก อาจมีอาการเจ็บคอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คันหรือปวดแสบปวดร้อนบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้งๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว จากนั้นจะค่อยๆมีอาการทางระบบประสาท เช่น ตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม กลัวเสียงดัง กลืนน้ำลำบากและเจ็บมากเวลากลืนเนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนเกิด อาการเกร็งตัว มักบ้วนน้ำทิ้ง เป็นที่มาของคำว่า “โรคกลัวน้ำ” ผู้ป่วยจะน้ำลายไหลมาก ต้องบ้วนทิ้ง อาละวาด เอะอะ และจะค่อยๆ เซื่องซึมลง ชัก เป็นอัมพาต ความดันโลหิตต่ำลง ช็อคและเสียชีวิตภายใน 5-13 วันหลังจากที่รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

  

ทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า

แม้อาการโรคพิษสุนัขบ้าจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่โรคนี้กลับสามารถป้องกันได้ง่ายมาก โดยการ
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์ในชุมชน ซึ่งประเทศไทยมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนนี้ฟรีจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2563

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เราลองเหลียวดูบรรดาสัตว์เลี้ยงของเรา สัตว์เลี้ยงเพื่อนบ้าน หรือสัตว์จรจัดรอบๆตัวเราสิคะ ว่าได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครบทุกตัวแล้วหรือยัง ตามพระราชบัญญัติ โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2538 เมื่อสุนัขได้รับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า จะต้องได้รับเหรียญแขวนคอ และใบรับรองการฉีดวัคซีนไว้เป็น หลักฐาน เมื่อท่านนำสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน โปรดขอรับเหรียญแขวนคอและแขวนให้สัตว์เลี้ยงของเรา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้พบเห็นทราบว่า สัตว์เลี้ยงของเราได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

 

ท่านทราบหรือไม่?

 

เชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เมื่ออยู่นอกร่างกายจะตายได้ง่ายมาก ยกตัวอย่างเช่น

  • หากถูกแสงแดด หรือแสงยูวี (UV) เชื้อนี้จะตายภายใน 1 ชั่วโมง
  • หากต้มในน้ำเดือด เชื้อจะตายภายใน 5 -10 นาที
  • หากทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์ไอโอดีน โพวีโดนไอโอดีน สบู่ ผงซักฟอก หรือฟอร์มาลีน เชื้อจะตายภายในเวลารวดเร็ว

อย่าลืมนะคะ...เมื่อสัมผัสน้ำลายสัตว์หรือโดนสัตว์กัด ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่หลายๆครั้งและรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนค่ะ

 

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
ขอขอบคุณ : ผู้เรียบเรียงบทความ เภสัชกรหญิงมนัญญา  เนินทราย
ที่ปรึกษาบทความ : ดร. ร.อ.นพ. พันเลิศ  ปิยะราช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาโรคติดเชื้อ