รายงานสถานการณ์โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส


รายงานสถานการณ์โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส

เรียบเรียงโดยสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค
วันที่ 25 มิถุนายน 2558


ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก สรุปยอดผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 จนถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2558 รวมทั้งสิ้น 1,348 ราย และเสียชีวิต 479 ราย จาก 26 ประเทศ ซึ่งในปี 2558 พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาใน 11 ประเทศ ได้แก่ จอร์แดน โอมาน การ์ตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อิหร่าน เยอรมนี จีน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และไทย

องค์การอนามัยโลกรายงานยอดผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศเกาหลีใต้ ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2558 มีผู้ป่วยโรคเมอร์สในประเทศเกาหลีใต้รวมทั้งสิ้น 180 ราย และเสียชีวิต 29 ราย(ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย เป็นผู้ป่วยชาวเกาหลีใต้เดินทางไปยังประเทศจีน)


สถานการณ์ในประเทศไทย

ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิถุนายน ๒๕๕๘ อาการของผู้ป่วยยืนยันโรคเมอร์สรายแรกของประเทศไทย เพศชาย อายุ 75 ปี เป็นชาวตะวันออกกลาง ที่รักษาในห้องแยกโรค สถาบันบำราศนราดูร อาการโดยรวมดีขึ้น รับประทานอาหารได้ ไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนผู้สัมผัสที่เป็นญาติ 3 คน อาการปกติ และผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค อาการปกติทุกราย 

ตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 24 มิถุนายน 2558 มีบุคคลผู้เข้าเกณฑ์การตรวจสอบโรค ซึ่งส่วนใหญ่ คือผู้เดินทางจากประเทศที่มีรายงานการเกิดโรคเมอร์สเข้ามาทั้งหมด 82 ราย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้ผลลบทุกราย 


การดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข

  1. ดำเนินการสอบสวน และติดตามผู้สัมผัสโรค ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2558 จำนวนทั้งสิ้น 160 ราย
  2. รายงานสถานการณโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (ข่าวเพื่อสื่อมวลชน) ผ่านทางเว็บไซต์สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุขhttp://pr.moph.go.th/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=73923
  3. จัดทีมติดตามเฝ้าระวังอาการผู้สัมผัส
  4. แจก เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากป้องกันโรค เอกสารคำแนะนำ เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษา
  5. หากผู้สัมผัสมีอาการสามารถโทรศัพท์แจ้งที่สายด่วน 1422 ได้ทันที ซึ่งหากผู้สัมผัสมีอาการเข้าเกณฑ์กระทรวงสาธารณสุขจะจัดส่งรถไปรับผู้สัมผัสที่มีอาการที่บ้านเพื่อจะได้ดำเนินการตรวจวินิจฉัยผู้สัมผัสที่มีอาการต่อไป
  6. จัดทำข่าวสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ มีความรู้เกี่ยวกับตัวโรค และรู้วิธีการแพร่โรคต่อไป
  7. ขอความร่วมมือประกาศเตือนบนเครื่อง ดำเนินมาตรการคัดกรองที่สนามบิน พร้อมทั้งแจกคำแนะนำ(Health beware card) บนเครื่อง 37 เที่ยวบินตรงจากพื้นที่เสี่ยง และเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการเข้มงวดในการทำความสะอาดเครื่องบิน
  8. ประสานกองตรวจคนเข้าเมือง ให้ส่งต่อผู้เดินทางจากเขตติดโรคให้กับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคตรวจวัดไข้ทุกราย ก่อนอนุญาตให้เข้าเมือง
  9. ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ (Thermo scan) 4 จุด จุดบริการแอลกอฮอล์เจลกว่า 200 จุด กระจายทั่วสนามบิน และแจกหน้ากากอนามัยให้ที่จุดประชาสัมพันธ์

คำแนะนำประชาชนไทย

  1. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่มีอาการไอหรือจาม
  2. ปฏิบัติตามสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่
  3. ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับบุคคลอื่น เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อเมื่อไอหรือจามควรใช้กระดาษชำระปิดปากและจมูกทุกครั้ง และทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่ปิดมิดชิดและล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ควรไอหรือจามลงบนเสื้อผ้าบริเวณต้นแขนไม่ควรจามรดมือและรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ พร้อมแจ้งความเสี่ยงที่อาจสัมผัสโรค เช่นเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่สงสัยโรคเมอร์ส
  4. ประชาชนที่ไม่ได้สัมผัสพื้นที่เสี่ยง หากมีไข้ ไอ ไม่ต้องกังวล ไปพบแพทย์เพื่อรักษาหรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟสบุ๊ค “ไทยสู้เมอร์ส”


คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

  • องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศ เรื่องการระบาดโรคเมอร์ส เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ( Public Health Emergencies of International Concern: PHEIC)
  • องค์การอนามัยโลก ยังไม่แนะนำให้มีการคัดกรองพิเศษบริเวณทางเข้า-ออกประเทศ และการจำกัดการเดินทางหรือการค้าแต่อย่างใด
  • องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศต่างๆเน้นในเรื่องของมาตรการป้องกัน และควบคุมการแพร่เชื้อ การติดตามและแยกกัก และเฝ้าดูอาการผู้ที่มีประวัติสัมผัสเชื้อ แม้จะยังไม่มีอาการป่วย
  • เน้นมาตรการจัดการเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนเชื้อ การกำจัดของเสีย การทำความสะอาด และการฆ่าเชื้อ ซึ่งแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อจากละอองฝอย
  • เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลทุกประเทศควรมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อในระดับสูง โดเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นนักท่องเที่ยว แรงงานต่างด้าว ที่มีประวัติเดินทางจากประเทศตะวันออกกลาง
  • องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศดำเนินการเฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน (Acute Respiratory Infection) และติดตามรูปแบบความผิดปกติต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีประวัติเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยง
  • องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำให้ประเทศสมาชิกรายงานผู้ป่วยสงสัย ผู้ป่วยยืนยัน พร้อมข้อมูลประกอบมายังองค์การอนามัยโลกอย่างรวดเร็วมาตรการการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข
  • มาตรการการประเมินความเสี่ยง และการป้องกัน - มีการติดตามสถานการณ์ การระบาดในต่างประเทศ และสถานการณ์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งวิเคราะห์และทำการประเมินความเสี่ยง
  • มาตรการการเฝ้าระวัง และคัดกรอง - การเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทาง ที่ช่องทางเข้าออกประเทศ / การติดตามกลุ่มเสี่ยง โดยดำเนินการ ดังนี้
1) สื่อสารทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่ช่องทางเข้าออกประเทศในทุกหน่วยงาน ตามแนวทางเฝ้าระวัง ป้องกัน การติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012
2) ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้เดินทาง โดยเน้นหากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หอบเหนื่อย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศทันที กรณีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองส่งผู้เข้าข่าย จะมีการดำเนินการตรวจวัดไข้ซักประวัติการเดินทางรวมทั้งแนะนำการปฏิบัติตัว และแจกเอกสาร
3) ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ไอมีน้ำมูก หรือเจ็บคอ และมีประวัติการเดินทางกลับมาจากประเทศแถบตะวันออกกลางในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ให้ไปโรงพยาบาลทันทีตามระบบ และแจ้งแพทย์ถึงประวัติการเดินทางหรือติดต่อสายด่วน 1422
4) แจกแผ่นพับความรู้และวิธีปฎิบัติแก่กลุ่มเสี่ยง หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หอบเหนื่อย สามารถติดต่อได้ที่สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือสายด่วน 1422
5) กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ชาวต่างชาติที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาด และประชาชนชายไทย 3 กลุ่มที่เดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาด ได้แก่ ผู้ประกอบศาสนากิจ นักท่องเที่ยว และแรงงานผู้ประกอบธุรกิจและอื่นๆ

- การเฝ้าระวังในโรงพยาบาล โดยเน้นการคัดกรองผู้มีประวัติเสี่ยง และการป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่กระจายเชื้อ
- จัดทีมดูแลผู้เดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนาในช่วงก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง และหลังกลับจากเดินทาง

• มาตรการการวินิจฉัยดูแลรักษา / การส่งต่อ / การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- ดำเนินการคัดกรอง และรักษา ตามแนวทางการรักษาของกรมการแพทย์
- เตรียมพร้อมศักยภาพของโรงพยาบาลในการรองรับผู้ป่วย ทั้งในกรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค
- เตรียมพร้อมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 เขต ทั่วประเทศ และโรงพยาบาลศูนย์ในส่วนภูมิภาค สามารถตรวจหาเชื้อ และรายงานผลได้ภายใน 5-8 ชม.

• มาตรการสื่อสารความเสี่ยง
- ทำการสื่อสารความเสี่ยง และให้ความรู้ ถึงกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนทั่วไป ผู้เดินทางกลับจากแสวงบุญ ผู้ป่วยสงสัยบุคลากรทางการแพทย์ และญาติ 


คำแนะนำสำหรับผู้เดินทาง/นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรค

จากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน พบว่ากลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย หรือผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ ผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดในช่วงที่มีการระบาดของโรค สำหรับผู้เดินทางทั่วไป ควรปฏิบัติตน ดังนี้
  1. หากไม่จำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานพยาบาลในช่วงที่มีการระบาดของโรค
  2. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่มีอาการไอหรือจาม
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าไปหรือสัมผัสฟาร์มสัตว์ หรือสัตว์ป่าต่างๆหรือดื่มน้ำนมดิบ โดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะน้ำนมอูฐ ซึ่งอาจเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อได้
  4. ปฏิบัติตามสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำสบู่
  5. ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับบุคคลอื่น เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ เมื่อไอหรือจามควรใช้กระดาษชำระปิดปากและจมูกทุกครั้ง และทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่ปิดมิดชิดและล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ควรไอหรือจามลงบนเสื้อผ้าบริเวณต้นแขนไม่ควรจามรดมือ และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
  6. หลังจากกลับจากการเดินทาง หากภายใน 14 วัน มีอาการไข้ ไอ หรือเจ็บคอ หรือมีน้ำมูก ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีหรือโทร. 1669 พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง


ท่านสามารถติดตามแนวทาง คำแนะนำ และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นปัจจุบัน ได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค
หมายเลข 1422 หรือเว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค (http://beid.ddc.moph.go.th)
*****************************
ไฟล์แนบบทความ
 Download [80 kb]