scarlet fever



รศ.พญ.พรอำภา บรรจงมณี
รศ.พญ.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

00.JPG

โรคไข้อีดำอีแดง (scarlet fever) พบบ่อยในเด็กอายุระหว่าง 5-15 ปี เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย group A Streptococcus สามารถสร้างสารพิษที่เรียกว่า erythrogenic toxin ทำให้เกิดผื่นในโรคไข้อีดำอีแดง เมื่อปี พ.ศ. 2561 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานโรคไข้อีดำอีแดงจำนวน 3,162 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 4.83 ต่อแสนประชากร ส่วนในปี พ.. 2562 (1 ม.ค. ถึง 30 ส.ค.) พบผู้ป่วย 1,694 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 2.59 ต่อแสนประชากร พบบ่อยในเด็กอายุ 4-9 ปี ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ได้มีประเด็นคำถามจากแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการวินิจฉัย การรักษารวมถึงภาวะแทรกซ้อน และการป้องกันโรคไข้อีดำอีแดง ดังนี้


คำถามที่
1 ผู้ป่วยอายุ 7 ปี ให้ประวัติว่าเมื่อ 10 วันก่อนมีไข้สูง เจ็บคอ 8 วันก่อนเริ่มมีผื่นขึ้นเป็นเม็ดเล็กๆ ที่หน้า คอ ลำตัว และกระจายไปทั่วตัวภายใน 2 วัน เมื่อ 2 วันก่อนผิวหนังเริ่มลอกเป็นแผ่นๆ ที่ลำตัว มือ เท้า ดังแสดงในรูปที่ 1-3 หากแพทย์สงสัยว่าจะเป็นโรคไข้อีดำอีแดง จะมีแนวทางในการวินิจฉัยอย่างไร

11.JPG

ตอบ โรคนี้สามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ อาการและอาการแสดงของโรค โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง เจ็บคอ ทอนซิลมีหนองและบวมแดง หลังจากมีไข้ 1-2 วันจะเริ่มมีผื่นเม็ดเล็กสีแดง เริ่มที่ คอ หน้าอก และกระจายไปทั่วตัวในเวลา 2-3 วัน ผื่นจะสากเหมือนกระดาษทราย (sandpaper like) พบผื่นหนาแน่นบริเวณข้อพับเรียกว่า Pastias lines แก้มจะแดงแต่รอบปากจะขาวซีดเรียก circumoral pallor ช่วง 2-3 วันแรกลิ้นจะขาวแต่ tongue papillae จะแดงเรียกว่า white strawberry tongue ในวันที่ 4-5 ฝ้าขาวที่ลิ้นจะหายไป เห็นลิ้นแดงมาก และ tongue papillae เป็นตุ่มนูนแดงเรียกว่า red strawberry tongue หลังจากผื่นจางได้ 1 สัปดาห์ ผิวหนังจะเริ่มลอกเป็นแผ่นที่รักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือและเท้า ส่วนลำตัวมักลอกเป็นขุยๆ

การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติอื่นๆ เช่น CBC พบเม็ดเลือดขาวสูง 12,000-18,000 เซลล์/ไมโครลิตร และเป็นชนิดนิวโตรฟิลเด่น ส่วนในสัปดาห์ที่สอง สามารถพบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลสูงได้ หากต้องการยืนยันการวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการเพาะเชื้อจากลำคอซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน มีความไวร้อยละ 90 ปัจจุบันมีชุดตรวจชนิดรวดเร็ว (rapid antigen detection test; RADT) ทราบผลได้รวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง มีความไวร้อยละ 70-90 หากผลตรวจ RADT เป็นลบแต่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นโรคไข้อีดำอีแดงให้พิจารณาส่งเพาะเชื้อจากลำคอซ้ำ

คำถามที่ 2 การให้ยาปฏิชีวนะจะมีประโยชน์หรือไม่หากคนไข้มีอาการมา 10 วันแล้ว และควรเลือกให้ยาปฏิชีวนะตัวใด

ตอบ แนะนำให้ยาปฏิชีวนะรักษาผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดงทุกราย เพื่อลดระยะเวลาป่วย ลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด และป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยยาจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่ใช้รักษาโรคคอหอยและทอนซิลอักเสบจากแบคทีเรียกรุ๊ปเอ สเตรปโตคอคคัส คือยากลุ่ม penicillin แต่ถ้าผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยา penicillin ชนิด immediate type hypersensitivity ให้เลือกใช้ยากลุ่ม macrolides หรือ clindamycin แทน หากแพ้ชนิด nonimmediate type hypersensitivity ให้เลือกใช้ยากลุ่ม cephalosporins แทนได้ (รายละเอียดดังตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 ยาปฏิชีวนะที่แนะนำให้ใช้ในการรักษาโรคไข้อีดำอีแดง

ยา

ขนาด

ระยะเวลา


ผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม
penicillin


Penicillin V (oral)


เด็ก
250 มก. วันละ 2-3 ครั้ง

วัยรุ่น/ผู้ใหญ่ 250 มก. วันละ 4 ครั้ง หรือ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง


10 วัน


Amoxicillin (oral)


50 มก./กก. วันละครั้ง (ขนาดสูงสุด 1,000 มก.)

ทางเลือก 25 มก./กก. (ขนาดสูงสุด 500 มก.) วันละ 2 ครั้ง


10 วัน


Benzathine penicillin G (IM)


น้ำหนัก
< 27 กก. ให้ 600,000 ยูนิต

> 27 กก. ให้ 1,200,000 ยูนิต


1 ครั้ง


ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยา
penicillin


Cephalexin (oral)


20 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง (ขนาดสูงสุด 500 มก.)


10 วัน


Cefadroxil (oral)


30 มก./กก. วันละ 1 ครั้ง (ขนาดสูงสุด 1,000 มก.)


10 วัน


Clindamycin (oral)


7 มก./กก. วันละ 3 ครั้ง (ขนาดสูงสุด 300 มก.)


10 วัน


Azithromycin (oral)


12 มก./กก. วันละ 1 ครั้ง (ขนาดสูงสุด 500 มก.)


5 วัน


Clarithromycin (oral)


7.5 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง (ขนาดสูงสุด 250 มก.)


10 วัน


คำถามที่ 3
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในโรคไข้อีดำอีแดงมีอะไรบ้าง

ตอบ พบได้ค่อนข้างน้อย แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการลุกลามของเชื้อไปบริเวณใกล้เคียง (suppurative complications) ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคออักเสบ peritonsillar abscess, retropharyngeal abscess และการลุกลามของเชื้อไปยังเนื้อเยื่อชั้นลึกบริเวณคอหรือกระจายเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่เป็นผลจากปฏิกิริยาทางระบบอิมมูน ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะอื่นๆ (non-suppurative complications) ได้แก่ rheumatic fever, rheumatic heart disease และ acute poststreptococcal glomerulonephritis


คำถามที่
4 แนวทางในการป้องกันโรคสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดงมีอะไรบ้าง

ตอบ โรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยการหายใจสูดเอาละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อ หรือสัมผัสผ่านทางมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียกรุ๊ปเอ สเตรปโตคอคคัส ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นควรใส่หน้ากากอนามัย อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นโดยเฉพาะของใช้ส่วนตัว หมั่นล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย หากผู้สัมผัสใกล้ชิดเริ่มมีไข้ เจ็บคอให้รีบไปพบแพทย์ โดยผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดงจะหยุดแพร่เชื้อภายหลังรับประทานยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 24 ชั่วโมง


เอกสารอ้างอิง

1. Center for Disease Control and Prevention [Internet]. Group A streptococcal (GAS) disease. [cited on 2019 Sep 12]. Available from: https://www.cdc.gov/groupastrep/diseases-hcp/scarlet-fever.html.

2. American Academy of Pediatrics. Group A streptococcal infections. In: Kimberlin DW, Brady MT, Jackson MA, Long SS, eds. Red Book: 2018-2021 Report of the Committee on Infectious Diseases. 31st ed. Itasca, IL: American Academy of Pediatrics, 2018: 748-62.

3. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. Scarlet fever. รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง ๕๐๖. Available from: http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/506wk/y61/d74_5261.pdf.

4. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. Scarlet fever. รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง ๕๐๖. Available from: http://www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/506wk/y62/d74_3562.pdf.