รายงานสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ระหว่างวันที่ 4 - 10 สิงหาคม 2557


ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – 6 สิงหาคม 2557 พบผู้ป่วยสะสมรวม 1,779 ราย เสียชีวิต 961 ราย ใน 4 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย โดยเป็นผู้ป่วยประเทศกินี 495 ราย (เสียชีวิต 367 ราย) ไลบีเรีย 554ราย (เสียชีวิต 294 ราย) เซียร์ราลีโอน 717 ราย (เสียชีวิต 298 ราย) และไนจีเรีย 13ราย (เสียชีวิต 2 ราย) ผู้ป่วยยืนยันทางห้องปฏิบัติการสะสม 1,134 ราย เสียชีวิต 622 ราย ใน 3 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน โดยเป็นผู้ป่วยประเทศกินี 355ราย (เสียชีวิต 231 ราย) ไลบีเรีย 148 ราย (เสียชีวิต 132 ราย) เซียร์ราลีโอน 631ราย (เสียชีวิต 259 ราย)


ในประเทศไนจีเรีย ขณะนี้เริ่มมีการระบาดในวงจำกัด พบการระบาดในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วย ณ วันที่ 6 ส.ค.พบผู้ป่วยเพิ่ม 12 รายซึ่งทั้งหมดเป็นผู้สัมผัสกับผู้ป่วยรายแรกที่เดินทางมาจากประเทศไลบีเรีย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย ผู้เสียชีวิตคือ พยาบาลที่ดูแลผู้เสียชีวิตรายแรก เนื่องจากในระยะแรกผู้ป่วยไม่ยอมบอกว่าตัวเองสัมผัสใกล้ชิดกับน้องสาวซึ่งเพิ่งเสียชีวิตจากอีโบลาในไลบีเรีย ประเทศไนจีเรีย ประกาศให้การระบาดอีโบลาเป็นภาวะฉุกเฉิน


องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern ; PHEIC)เนื่องจากพบว่า การระบาดนี้ เป็นเหตุการณ์ผิดปกติอย่างมาก และเป็นความเสี่ยงด้านสาธารณสุขต่อทุกประเทศทั่วโลก ผลกระทบในการแพร่ระบาดระหว่างประเทศรุนแรง และมีความจำเป็นยิ่งที่ต้องมีการร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรค และได้ออกคำแนะนำให้มีการจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศของผู้ป่วยอีโบลาและผู้สัมผัสในประเทศที่มีการระบาด รวมทั้งการจัดระบบการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในระดับสูงสุดสำหรับในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงหรือพบผู้ป่วยโดยที่ผู้ป่วยเดินทางไปจากประเทศที่มีการระบาด รวมทั้งประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศที่มีการระบาด และประเทศอื่นๆให้มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ยังไม่มีการห้ามเดินทางหรือการค้า นอกจากนั้นองค์การอนามัยโลก จะมีการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ ประเด็น จริยธรรมสิทธิมนุษย์ชนเรื่อง การทดลองยารักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา


มาตรการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขไทย

สำหรับมาตรการในประเทศไทย มีการดำเนินการซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำตามประกาศขององค์การอนามัย
โลกตามประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) โดยดำเนินการดังนี้

1. การจัดระบบเฝ้าระวัง

1.1 กรมควบคุมโรคดำเนินการติดตามสถานการณ์ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีการระบาด

1.2 ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ดำเนินการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่พบโรค โดยการซักประวัติสุขภาพ วัดอุณหภูมิร่างกาย ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน จนถึง 10 สิงหาคม 2557 จำนวน 447ราย ดังนี้ ทั้งหมดไม่มีอาการป่วย โดยมีผู้ที่ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง 21 วัน จำนวน 65 ราย

1.3 กระทรวงสาธารณสุขดำเนินมาตรการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ๓๘ องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับมีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศที่พบผู้ป่วยในช่วง ๒๑ วันก่อนเริ่มป่วย โดยให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อสอบสวนและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทันที ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่จังหวัดพังงาเสียชีวิตด้วยโรคติดต่อ จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าไม่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศระบาดของอีโบลาและอาการไม่เหมือนโรคอีโบลา

1.4 กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีคำเตือนประชาชนไทยให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปยังประเทศที่เกิดโรค หากจำเป็นต้องเดินทางไปให้ลงทะเบียนการเดินทางตามมาตรการของกระทรวงการต่างประเทศ รายละเอียด www.thaiembassy.org

1.5 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังสัตว์ที่มาจากแอฟริกา ไม่พบมีการนำสัตว์เข้ามายังประเทศไทย

1.6 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้ความรู้เรื่องอีโบลา แก่ อสม. เพื่อสื่อสารกับประชาชน

1.7 สรุปมาตรการป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทยจากการประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 6/2557 ดังนี้

- ติดตามสถานการณ์และประสานความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด

- เฝ้าระวัง ในผู้ที่มีไข้และเดินทางมาจาก กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน ไนจีเรีย โดยคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคสนามบิน และติดตามอาการจนครบ 21 วัน ส่วนในสัตว์มีการเฝ้าระวังในสัตว์เช่นกัน

- เตรียมพร้อมด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งในคนและในสัตว์

- เตรียมด้านการรักษาพยาบาลและป้องกันการติดเชื้อในรพ. /คำแนะนำการใช้ PPE

- การสื่อสารประชาสัมพันธ์ แนะนำผู้เดินทาง และประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ

- เปิด war room ทุกวันเพื่อประสาน สั่งการป้องกัน ควบคุมโรค

- ประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินสถานการณ์และปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์

2. การดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล
การควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล สถานพยาบาลมีห้องแยกผู้ป่วยสำหรับการติดเชื้อทางสารคัดหลั่งและการติดเชื้อทางเดินหายใจทุกจังหวัด และให้ปฏิบัติตามหลักการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลเหมือนผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายสูง เช่น โรคซาร์ส อย่างเคร่งครัด และตามคำแนะนำการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ EVDผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรง สำหรับบุคลากรและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ของสถาบันบำราศนราดูร ส่วนการรักษาผู้ป่วยให้ปฏิบัติตามแนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษา และควบคุมป้องกันการติดเชื้อจากกรมการแพทย์ ทั้งนี้มีการคำปรึกษาแก่แพทย์ พยาบาลในการรักษาตลอด 24 ชั่วโมง

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

4. การบริหารจัดการ

4.1 กรมควบคุมโรคดำเนินการภายใต้ระบบปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรมควบคุมโรคเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรายงาน ให้กระทรวงสาธารณสุขทุกวัน

4.2 กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการภายใต้ระบบปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโตภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานและสั่งการไปยังหน่วยปฏิบัติทั่วประเทศ

4.3 กรมควบคุมโรคจัดให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ เพื่อประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงพร้อมทั้งปรับมาตรการในการป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาให้เหมาะสมเป็นระยะ


สรุปและข้อเสนอ
1. มาตรการที่ดำเนินการเป็นไปตามข้อแนะนำทางวิชาการของคณะผู้เชี่ยวชาญ และตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกตามประกาภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) และจะมีการติดตามประเมินปรับมาตรการตามสถานการณ์เป็นระยะ
2. กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นโรคติดต่ออันตรายเพื่อให้มีการดำเนิมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคได้อย่างเข้มข้นเพิ่มขึ้น
3. เผยแพร่คำแนะผู้เดินทางไปต่างประเทศให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด
4. ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ในเว็บไซต์ทั้งในระดับกรม และกระทรวงสาธารณสุข
5. เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรโดยจัดการประชุมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ภายในเดือนสิงหาคม