สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

1.png

        เนื่องจากในช่วงนี้พบจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 และสูงมากขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 โดยพบบ่อยบริเวณภาคกลางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้แก่ นนทบุรี และปทุมธานี สาเหตุของโรคอุจจาระร่วงส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า ส่วนน้อยที่เหลือเกิดจากเชื้อโนโรไวรัส ส่วนสาเหตุอื่นๆพบได้น้อย ซึ่งการติดเชื้อไวรัสโรต้านี้มักพบในผู้ป่วยเด็ก แต่จากสถานการณ์ขณะนี้มีการพบโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในผู้ใหญ่มากขึ้น ตั้งแต่วัยทำงานถึงอายุมากกว่า 60 ปี และมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น

        โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันพบได้บ่อยในเด็ก สาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส รองลงมาคือการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้ออื่นๆ เช่น ปรสิต หรือ อาหารเป็นพิษจากสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนในอาหารหรือจากสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อแบคทีเรีย พบว่ามากกว่าร้อยละ 90 ของโรคอุจจาระร่วงในเด็กเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรต้า โนโรไวรัส เอ็นเตอโรไวรัส อะดีโนไวรัส รวมทั้งไวรัสอื่นๆ ไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของโรคท้องเสียในเด็ก เด็กที่เคยท้องเสียจากไวรัสโรต้าอาจเป็นซ้ำได้เพราะไวรัสโรต้านี้มีหลายสายพันธุ์ แต่อาการมักไม่หนักเท่าครั้งแรก ไวรัสโรต้านี้สามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็ว และอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน เป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเย็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโรต้าสามารถขับถ่ายเชื้อได้ในปริมาณมากหลายล้านตัว เป็นเวลานานหลายสัปดาห์ แต่เชื้อไวรัสโรต้าเพียง 10 ตัว ก็สามารถก่อโรคได้แล้ว แม้ว่าไวรัสโรต้ามักเป็นโรคที่เป็นปัญหาในเด็ก แต่สามารถก่อปัญหาในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุได้ และอาจมีอาการรุนแรง
เช่นกัน 

        การวินิจฉัยโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า อาศัยอาการทางคลินิก ซึ่งอาการและอาการแสดงของโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าและโนโรไวรัสมีความคล้ายคลึงกัน แต่ส่วนใหญ่ของการติดเชื้อไวรัสโรต้ามักเป็นในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก ส่วนการติดเชื้อโนโรไวรัสมักพบในเด็กโตและผู้ใหญ่มากกว่า โรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้ามักมีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด และถ่ายเหลวเป็นน้ำ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่กรณีที่อาการรุนแรงจะทำให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากร่างกายจนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตลดลง และภาวะช็อกได้ 
2.jpg
        การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการสามารถทำได้หลายอย่าง สามารถให้การวินิจฉัยที่แน่นอนโดยการส่งตรวจสารพันธุกรรม(Polymerase Chain Reaction, PCR) แต่ไม่แนะนำให้ทำเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ส่วนชุดตรวจแบบรวดเร็ว (rapid diagnostic test) ซึ่งใช้หลักการของ ELISA ส่วนใหญ่เป็น lateral flow immunochromatography (LFI) สำหรับชุดตรวจแบบรวดเร็วของการติดเชื้อโรต้า มีความไวประมาณร้อยละ 70-80 และความถูกต้องแม่นยำร้อยละ 80 ส่วนชุดตรวจแบบรวดเร็วการติดเชื้อโนโร มีความไวต่ำกว่ามากประมาณร้อยละ 30-40 แต่ความถูกต้องแม่นยำประมาณร้อยละ 80 จึงไม่แนะนำให้ทำ rapid diagnostic test ในการวินิจฉัยไวรัสโนโรและไวรัสโรต้าเพื่อวัตถุประสงค์ในการดูแลรักษา เนื่องจากมีความไวของชุดตรวจค่อนข้างต่ำและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ยกเว้นทำเพื่อประโยชน์ทางด้านระบาดวิทยาของการเฝ้าระวังโรคที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน 

        การรักษาโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส ยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโรต้า จึงเป็นการรักษาตามอาการโดยการให้ดื่มน้ำเกลือแร่เป็นสำคัญ อาจให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวด หรือยาลดไข้ร่วมด้วย ไม่แนะนำให้ยาปฏิชีวินะเพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้และอาจก่อปัญหาทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาตามมา หากผู้ป่วยมีอาการสูญเสียน้ำที่รุนแรงมาก อาจจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทดแทนทางเส้นเลือด 

        การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้า เนื่องจากโรคอุจจาระร่วงส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงหรือโดยอ้อมหลังสัมผัสกับเครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อ หรือมีการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ำ ควรให้ความระมัดระวังในการรับประทาน ควรดื่มน้ำหรือน้ำแข็งที่สะอาดและกินอาหารที่ปรุงใหม่สุกเสมอ ดูแลสุขอนามัยส่วนตน “กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ” โดยเน้นเรื่อง “การล้างมือและฟอกสบู่เป็นประจำ” ของสมาชิกในครอบครัวทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนและหลังการขับถ่าย ผู้ที่ดูแลเด็กเล็กควรหมั่นล้างมือโดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม เพราะเชื้ออาจติดมืออยู่ได้นานหลายชั่วโมง นอกจากนี้อาจมีการแพร่เชื้อผ่านของเล่น จึงควรทำความสะอาดของเล่นอยู่เสมอ การกินนมแม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโรต้าได้บางส่วน อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีสุขอนามัยที่ดี บางครั้งก็ยังสามารถติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ เพราะปริมาณเชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถแพร่เชื้อได้ มีความคงทนในสิ่งแวดล้อมและยาวนาน 
3.png4.png

วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ปัจจุบันในประเทศไทยมีวัคซีนนี้แล้ว เป็นวัคซีนชนิดกิน มี 2 ชนิด มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงและมีความปลอดภัยสูงเท่าเทียมกันทั้งสองชนิด แม้ว่าจะมีรายงานการเกิดลำไส้กลืนกันได้ในอัตราที่น้อยมากประมาณ 1 ใน 100,000 ราย ซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้

แต่เมื่อคำนึงถึงประโยชน์จากวัคซีนในการป้องกันโรคจะสูงกว่ามาก เด็กทุกคนที่ได้รับวัคซีนครบยังอาจเกิดการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ แต่อาการจะเบาลง วัคซีนนี้สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป โดยการหยอดวัคซีน 2-3 ครั้งห่างกันครั้งละ 2 เดือน การหยอดวัคซีนครั้งแรกอายุไม่เกิน 4 เดือน และครั้งสุดท้ายไม่เกินอายุ 8 เดือน ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า หากจะให้วัคซีนครั้งแรกเกินกว่าอายุ 4 เดือนนี้อาจพิจารณาใช้ได้ แต่ต้องประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลำไส้กลืนกันกับประโยชน์ที่จะได้จากวัคซีนด้วย ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนในผู้ใหญ่ วัคซีนนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ ทำให้ขณะนี้ยังไม่มีการให้บริการฟรีในโรงพยาบาลรัฐทั่วไป แต่มีให้บริการแบบมีค่าใช้จ่ายในคลินิกเอกชน โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลของรัฐบางแห่ง