กรมควบคุมโรค เผยผลการตรวจสอบกรณีญี่ปุ่นตรวจหาเชื้อโควิด 19 จากตัวอย่างน้ำลาย พบผลบวกในคนที่เดินทางจากไทย


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการสอบสวนและการประสานงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) ในช่วงที่ผ่านมา กรณีประเทศญี่ปุ่นตรวจพบเชื้อโควิด 19 จากตัวอย่างน้ำลายคนที่เดินทางจากประเทศไทยไปถึงสนามบินญี่ปุ่น โดยหลังได้รับรายงาน ประเทศไทยได้ประสานงานกับประเทศญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดทุกราย เพื่อสอบสวนโรคและตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม

วันนี้ (8 ตุลาคม 2563) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีรายงานว่าพบผู้เดินทางออกจากประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่นติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) นั้น  กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า วิธีการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ที่สนามบินในญี่ปุ่นนั้นเป็นวิธีใหม่ ที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา คือวิธีคัดกรองเบื้องต้นที่เรียกว่า CLEIA (Chemiluminescent enzyme immunoassay) โดยตรวจหาเชื้อจากตัวอย่างน้ำลายของผู้เดินทาง ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำให้ใช้เป็นมาตรฐาน ผลการตรวจวิธีดังกล่าวพบเชื้อโควิดในผู้ที่เดินทางจากประเทศไทยจำนวนหนึ่ง และหลังจากได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว  กรมควบคุมโรคได้ประสานไปยังจุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR national focal point) ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อสอบสวนโรค ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวทุกราย

จากการประสานงานและตรวจสอบรายละเอียดเบื้องต้น พบว่าตั้งแต่ 1 ส.ค. ถึง 8 ต.ค. 63 มีผู้เดินทางไปจากประเทศไทย ตรวจน้ำลายพบผลบวก 15 ราย โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ตรวจพบวันที่ 1 ส.ค.–21 ก.ย. 63 จำนวน 8 ราย ดังนี้ รายที่ 1 เป็นชายไทย อายุ 20 ปี, รายที่ 2 เป็นชายชาวญี่ปุ่น อายุ 47 ปี, รายที่ 3 เป็นชายชาวญี่ปุ่น อายุ 64 ปี, รายที่ 4 เป็นชายไทย อายุ 21 ปี, รายที่ 5 เป็นชายไทย อายุ 44 ปี, รายที่ 6 เป็นชายไทย อายุ 47 ปี, รายที่ 7 เป็นหญิงไทย อายุ 54 ปี และรายที่ 8 เป็นชายไทย อายุ 40 ปี  โดยทางโรงพยาบาลในญี่ปุ่นได้ทำการตรวจหาเชื้อซ้ำด้วยวิธี RT-PCR เพื่อหาสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-COV-2 พบว่าผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของทั้ง 8 รายดังกล่าว ให้ผลเป็นลบ ไม่พบเชื้อโควิด 19 แต่อย่างใด  สำหรับการสอบสวนโรคในประเทศไทย จากการตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของทั้ง 8 ราย รวม 49 คน ผลการตรวจเป็นลบทั้งหมด ไม่พบเชื้อโควิด 19 เช่นกัน

ส่วนกลุ่มที่ 2 ตรวจพบวันที่ 30 ก.ย.-8 ต.ค. 63 เพิ่มอีก 7 ราย ดังนี้ รายที่ 9 เป็นเด็กหญิงชาวญี่ปุ่น อายุ 2 ปี 9 เดือน โดยผู้ป่วยรายดังกล่าว เดินทางออกจากประเทศไทยพร้อมมารดาและพี่ชาย ถึงประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 63 เก็บตัวอย่างน้ำลายส่งตรวจ ผลเป็นบวก และถูกส่งเข้าสถานที่กักตัวของรัฐ ส่วนมารดาและพี่ชายผลตรวจน้ำลาย ให้ผลเป็นลบ  รายที่ 10 เป็นชายไทย อายุ 31 ปี ประวัติเบื้องต้นพบว่าก่อนเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ได้ไปตรวจหาการติดเชื้อโรคโควิด 19 ที่รพ.รามาธิบดี  ซึ่งผลเป็นลบ และเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 63 เก็บตัวอย่างน้ำลายส่งตรวจ ผลเป็นบวก และถูกส่งเข้าสถานที่กักตัวของรัฐ  รายที่ 11 เป็นหญิงไทย อายุ 20 ปี เดินทางถึงประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 63 เก็บตัวอย่างน้ำลายส่งตรวจ ผลเป็นบวก และถูกส่งเข้าสถานที่กักตัวของรัฐ  รายที่ 12 เป็นชายชาวญี่ปุ่น อายุ 56 ปี ประวัติเบื้องต้นเคยถูกคุมขังที่ห้องกักสวนพลูและห้องกักบางเขนในช่วงสองสัปดาห์ก่อนเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น

โดยทั้ง 4 รายดังกล่าวอยู่ระหว่างรอเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ในโรงพยาบาลของประเทศญี่ปุ่น ต่อไป  สำหรับการสอบสวนโรคในประเทศไทย หลังจากได้รับรายงานดังกล่าวแล้ว กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการสอบสวนโรค ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมทุกรายแล้ว โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 145 ราย อยู่ในระหว่างการเก็บตัวอย่างและรอผลการตรวจ ส่วนรายที่ 13 เป็นชายชาวญี่ปุ่น อายุ 60 ปี ได้รับการตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ผลไม่พบเชื้อ สำหรับรายที่ 14 และรายที่ 15 เป็นหญิงไทย อายุ 36 ปี และหญิงอายุ 63 ปี ตามลำดับ ทั้งสองรายอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคและประสานงานเพื่อตรวจสอบรายละเอียดดังกล่าว หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า ในการตรวจที่สนามบินของญี่ปุ่นเป็นวิธีใหม่ ที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 63 โดยเป็นการตรวจโปรตีนของเชื้อไวรัสโควิดด้วยตัวอย่างน้ำลาย ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำให้ใช้เป็นมาตรฐาน  ส่วนประเทศไทยการตรวจหาเชื้อโควิดจากโพรงจมูกด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยผู้ติดเชื้อโควิด 19  ผลการสอบสวนผู้เดินทางจากประเทศไทย 8 รายแรก สรุปได้ว่าไม่ใช่การติดเชื้อโควิด โดยพิจารณาจากผลตรวจ RT-PCR ที่ไม่พบเชื้อก่อนถูกปล่อยออกจากที่กักกัน ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ปฏิบัติตามหลักในการป้องกันควบคุมโรค ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations :IHR) ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายประเทศที่มีระบบความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ ทำให้มีการตรวจสอบติดตามและสอบสวนป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการดำเนินงานและควบคุมโรคภายในประเทศได้ดี จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในมาตรฐานการป้องกันควบคุมโรคที่มีความเข้มแข็งและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

*************************
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค
วันที่ 8 ตุลาคม 2563