จุลสารสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย | กรกฎาคม 2563




นายกสมาคมฯ เปิดใจแถลง

โดย รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 

Screen_Shot_2562_02_03_at_22.27.24.png


ขณะที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่นี้ กำลังเข้าหน้าฝนเต็มที่และที่พิเศษสุดคือ นักเรียนกำลังจะเปิดเทอมกันในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 หลังจากมีการเรียนทางออนไลน์มาประมาณเดือนกว่าแล้ว เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 การเปิดเทอมเพื่อให้เด็กนักเรียนเข้าในห้องเรียนจริงนั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเพราะการเรียนหนังสือนั้นไม่ใช่เพื่อเอาความรู้ไปสอบเท่านั้น แต่ลูกหลานพวกเราต้องมีการพัฒนาการทางด้านสังคม ทางด้านอารมณ์และการปรับตัวในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามมีความกังวลมาจากภาคกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขว่าเด็กอาจจะมีความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 จาการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนของนักเรียน ขอเรียนให้ทราบว่าจากข้อมูลของประเทศไทยและต่างประเทศพบว่า เด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ำกว่า 10 ขวบเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเป็นโรคโควิด-19 ต่ำกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ มาก โดยพบประมาณร้อยละ 1-6 ของผู้ป่วยทั้งหมดและเมื่อดูในรายละเอียดเด็กมักติดเชื้อจากผู้ใหญ่ เด็กมักไม่เป็นตัวการในการแพร่เชื้อ และเมื่อเด็กป่วยก็มีอาการน้อย ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะให้ลูกหลานคนไทยต้องเข้าห้องเรียนได้แล้วและพวกเราในฐานะ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ ต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์หลักในการดูแลเด็กนักเรียนที่ป่วยเป็นไข้หวัดในช่วงนี้ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาการดำเนินการด้านโรคโควิด-19 ในเด็กนักเรียน

6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นมกราคม 2563 พวกเราวงการแพทย์โดยเฉพาะแพทย์โรคติดเชื้อร่วมกับผู้ร่วมวิชาชีพอื่นๆ ต้องต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ผลลัพธ์ในยกแรก (Wave ที่ 1 ) เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ณ วันนี้ สถานการณ์ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั่วโลกมากว่า 10 ล้านคนแล้ว (จริงๆ คาดว่าน่าจะมีผู้ป่วยจริงสูงกว่าที่รายงานนี้ 5-10 เท่า) และเสียชีวิตมากกว่า 5 แสนคนแล้ว (อัตราตาย 5 % ) เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยแค่ 3,162 คน และเสียชีวิตเพียง 58 คนเท่านั้น หลายหน่วยงานในประเทศไทย และต่างประเทศถามตลอดว่าประเทศไทยดำเนินมาตรการอะไรที่สามารถควบคุม ยับยั้งโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อวิเคราะห์ดูในรายละเอียดแล้วพบว่า หนึ่ง-ทางการแพทย์ไทยเราไม่ประมาท เราเตรียมการและตอบสนองตั้งแต่มีสัญญาณน่าสงสัยว่าจะมีโรคระบาดทางเดินหายใจในเมือง อู่ฮั่น ประเทศจีน (หลายประเทศยังฉลองปีใหม่กันอยู่เลย) สอง-เราเอาประสบการณ์เก่าที่ต่อสู้กับโรคซาร์ส ไข้หวัดนก Ebola MERS ไข้หวัดใหญ่ 2009 ออกมากางแล้วเตรียมตัวทันที (มีด้านระบาดวิทยา คลินิก ห้อง lab และ อสม.) และสุดท้ายคือทางการแพทย์ต้องแข็งแกร่งและมั่นคงเพียงพอในการเอามาตรการควบคุม ดูแลรักษาโดยเสนอต่อทางฝ่ายการเมืองเพื่อดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลจากการดำเนินงาน ควบคุมโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่ผ่านมาหลายเดือนก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาพวกเราและชาวโลกว่า ถึงเวลามีปัญหาโรคระบาดประเทศไทยเราสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ต้องไม่ลืมว่าเมื่อมาตรการล๊อคดาวน์ประเทศที่เข้มงวดได้ผลดีทางด้านโรคระบาดแต่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นขณะนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีมาตรการผ่อนคลายเพื่อให้ประชาชนคนไทยสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้พอสมควรแก่ฐานะของประชาชนไทย

ดังนั้น หน้าที่ด้านการแพทย์ของพวกเรายังไม่จบ ยังต้องเตรียมความพร้อมตลอดเวลาโดยเอาประสบการณ์ใน 6 เดือน ที่ผ่านมาเพื่อจัดการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมรับมือกับคลื่นลูกที่ 2 (Wave ที่ 2) ซึ่งไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไร รุนแรงแค่ไหน จะอยู่นานไหม (แต่หลายประเทศเข้าสู่คลื่นที่ 2 แล้ว)

สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณ พวกเราทุกคนที่เสียสละแรงกาย แรงสมอง และแรงทรัพย์ ในการช่วยกอบกู้โรคระบาดโควิด-19 ใน 6 เดือนที่ผ่านมา ขอให้บุญกุศลเหล่านี้ดลบันดาลให้ ท่านและครอบครัว สุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคร้ายต่างๆ และมีพลังในการเตรียมพร้อมต่อสู้คลื่นโควิด-19 ลูกที่ 2 จนกว่าจะสงบเรียบร้อย ขอให้โชคดีทุกท่านครับ



ดาวน์โหลดจุลสาร - คลิกที่นี่